มิงกะลาบา (สวัสดี) ! ถนนหัวซิน
พาคุณไปถึงเมียนมาภายใน 1 วินาที
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧มณฑิรา ไชยวุฒิ
เมษายน 2022
踏入新北中和的華新街,像瞬間穿越某個神奇結界。街上整齊劃一的店招,除了中文以外,同時書寫著讓人陌生的緬文;空氣中瀰漫著檸檬、咖哩的濃郁香氣;市場中及賣店裡,販售洛神葉、酸木瓜、水醃菜等不容易見到的東南亞蔬果食材;街上人潮絡繹,騎樓下排開的桌椅坐滿了人,你看看我,我看看你。
「鳴個喇叭!」(Mingalar par)我用緬甸話的「你好」向人打了聲招呼,一同加入這流動的風景。
เมื่อก้าวเข้าสู่ถนนหัวซิน (Huaxin Street หรือ Zhonghe Myanmar Street) ที่อยู่ในเขตจงเหอของนครนิวไทเป เพียงพริบตาก็รู้สึกเหมือนได้ก้าวผ่านเข้าไปอีกโลกที่เต็มไปด้วยมนต์ขลัง ป้ายร้านค้าที่เรียงรายอยู่บนถนน นอกจากภาษาจีนแล้ว ยังมีตัวอักษรภาษาเมียนมา ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกแปลกตากำกับอยู่ด้วย กลิ่นหอมที่ลอยอบอวล มีทั้งกลิ่นมะนาวและกลิ่นหอมของเครื่องแกงกะหรี่เข้มข้น ภายในตลาดสดและร้านค้ามีการจำหน่ายใบกระเจี๊ยบ, มะตูมจีน, ผักดองแบบยูนนาน และผักผลไม้รวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ จากอาเซียน ที่ไม่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป บนท้องถนนเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนโต๊ะเก้าอี้ที่วางเรียงรายบริเวณทางเท้าใต้อาคาร ก็มีผู้คนนั่งอยู่เต็มหมด และต่างคนต่างก็มองกันไปมองกันมา
“มิงกะลาบา!” (Mingalar par) เราใช้คำว่า “สวัสดี” ในภาษาเมียนมาทักทายผู้คน เพื่อให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศที่นี่
ปัจจุบันไต้หวันมีประชากรชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาทั้งหมด 140,000 คน อาศัยอยู่ในเขตจงเหอและหย่งเหอของนครนิวไทเปประมาณ 40,000 คน สถานที่รวมตัวหลักของพวกเขาก็คือถนนหัวซินสายนี้
เมื่อลงรถจากหนานซื่อเจี่ยว (Nanshijiao) สถานีสุดท้ายของรถไฟฟ้าสายจงเหอซินหลู (Zhonghe–Xinlu) แล้วเดินไปตามถนนซิ่งหนานลู่ ก็จะเจอกับถนนหัวซิน ระยะทางสั้น ๆ ไม่ถึง 500 เมตรของถนนเส้นนี้ จะมีเสาสูงตั้งอยู่ตรงบริเวณทางเข้าเขียนว่า “ถนนสายอาหารและการท่องเที่ยวแห่งอาเซียน” แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ถนนเมียนมา” ร้านค้ากว่า 40 แห่ง จำหน่ายทั้งอาหารเมียนมา อาหารยูนนาน อาหารอินเดีย อาหารไทย และติ่มซำแบบฮ่องกง ถือเป็นปรากฏการณ์ของการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปลุกเร้าความรู้อยากเห็นของพวกเราขึ้นอย่างเงียบ ๆ
ปารีสมีร้านกาแฟริมแม่น้ำแซนฝั่งซ้าย เมียนมามีร้านชานม
ที่ริมฝั่งด้านซ้ายของแม่น้ำแซนในกรุงปารีสมีร้านกาแฟ ในจีนมีร้านชา ที่เมียนมามีร้านชานม หยางว่านลี่ (楊萬利) ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมารุ่น 2 ที่เติบโตมากับถนนหัวซินกล่าวว่า “ชานมแก้วนี้ถือว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ ในวิถีชีวิตของสังคมเมียนมา” หากต้องการข้อมูลเพื่อทำความรู้จักกับถนนหัวซินให้มากขึ้น จะต้องมาเริ่มกันจากชานมเมียนมาแก้วนี้ก่อน
สำหรับชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาแล้ว ชานมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุก ๆ วัน ชานมคือสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ร้านชานมจึงเป็นสถานที่สำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนและพักผ่อนหย่อนใจ เคยมีชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาพูดไว้ว่า “คนไต้หวันมักจะเจรจาธุรกิจในออฟฟิศ ส่วนคนเมียนมาล้วนนิยมเจรจาธุรกิจในร้านชานม” พวกเขาใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
เรายังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของเมียนมาจากชานมแก้วหนึ่งได้อีกด้วย หากลองสังเกตสักนิดก็จะพบว่าชานมเมียนมามักถูกเรียกเป็นชานมอินเดีย ซึ่งมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากมรดกทางวัฒนธรรม ที่ในอดีตเมียนมาเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในสมัยนั้นชาวอังกฤษนำเอาเมียนมากับอินเดียผนวกไว้ในอาณาเขตของจักรวรรดิอินเดียหรือ “บริติชราช” จึงทำให้เกิดกระแสการอพยพของชาวอินเดียไปที่เมียนมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ชานมเมียนมาเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มชาวอินเดีย และพวกเขาก็ได้ค่อย ๆ เริ่มธุรกิจชานม จนในภายหลังชานมเมียนมาถูกเรียกขานเป็นชานมอินเดีย
แม้กระแสความนิยมชานมจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์ แต่ชานมของเมียนมามีวิวัฒนาการและปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมของท้องถิ่น เพราะว่าคนเมียนมาไม่ชอบกลิ่นและรสชาติที่เข้มข้นในสไตล์ชานมอินเดีย จึงไม่ใช้เครื่องหอมอินเดีย อีกทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หานมสดได้ไม่ง่าย จึงเปลี่ยนมาใช้ครีมเทียมกับนมข้มหวานแทน ชานมเมียนมาประกอบไปด้วย ชาดำเมียนมา ครีมเทียม (นมละลายน้ำ) และนมข้นหวาน เพียงแค่สามอย่างเท่านั้น ทำให้ชานมแก้วนี้ เต็มไปด้วยความซับซ้อนของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และภูมิหลังอันหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ
ภาพบรรยากาศร้านค้าบนถนนหัวซิน
รหัสผ่านแห่งชีวิตในเมนูอาหาร
มาดื่มชานมเมียนมากันสักแก้วดีกว่า! เนื่องจากชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ใกล้กับถนนหัวซินส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ใช้แรงงานที่ทำงานเป็นกะ ไม่ค่อยมีกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่เข้างานเก้าโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็น จึงทำให้ร้านค้าเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้คนเข้าออกตลอดเวลา เมื่อเราเดินเข้าไปในร้านอาหารฮาลาลหลี่หยวน (Liyuan Halal Food) ที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ ถึงแม้จะเป็นร้านอาหารตามสั่งเล็ก ๆ แต่ในช่วงสิบโมงเช้ากลับมีผู้คนนั่งกันแน่นร้าน บนโต๊ะส่วนใหญ่จะมีการสั่งโรตีอินเดีย (Naan Bread) หรือเราเรียกกันว่า แป้งนาน มารับประทานคู่กับชานมเมียนมาหนึ่งแก้ว เป็นการเริ่มต้นใหม่ในแต่ละวันของพวกเขา
ภายใต้บรรยากาศที่คึกคัก ผู้อาวุโสชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมามากระซิบบอกกับพวกเราว่า ค.ศ. 1962 ถือเป็นปีแห่งความทรงจำที่ความสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา เพราะตอนนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาที่นำโดยนายพลเนวิน (Ne Win) เริ่มดำเนินนโยบาย “สัญชาติ” ที่ไม่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ร้านค้าหรือธุรกิจของชาวจีนถูกยึดเป็นของรัฐในชั่วข้ามคืน หนังสือพิมพ์กับโรงเรียนของคนจีนก็ทยอยถูกปิดและถูกยึดเป็นของรัฐบาล
เมื่อไม่อาจรับได้กับชะตากรรมที่ต้องถูกกลืนเข้าด้วยกัน และเพื่อหาทางออกให้กับคนรุ่นหลัง ชาวจีนโพ้นทะเลในเมียนมาจึงทยอยอพยพออกไปยังต่างประเทศ จนกลายเป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ โดยมีตัวเลือกก็คือ จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน ในจำนวนนี้ มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไต้หวันมากที่สุด
การใช้ชีวิตของผู้ย้ายถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพวกเขามาถึงไต้หวัน นอกจากจะต้องทนทุกข์ทรมานกับการที่ต้องจากบ้านเกิดมาอยู่ในแดนไกลแล้ว พฤติกรรมความเคยชินในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ปรับตัวได้ยาก เรื่องอาหารก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยธรรมชาติแล้ว ก็เหมือนกับคนจีนที่ไปเปิดร้านอาหารจีนในต่างประเทศจนก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพของไชน่าทาวน์ขึ้นมา 40 ปีก่อนมีร้านค้า 2 แห่ง เริ่มขายอาหารสตรีทฟู้ดสไตล์เมียนมาใกล้กับถนนหัวซิน มีชาวเมียนมาต่อแถวซื้อด้วยความคิดถึงบ้าน จนกลายเป็นถนนเมียนมาในปัจจุบัน
หากสังเกตป้ายร้านค้าบนถนนสายนี้ให้ดี ๆ จะเห็นว่าชื่อร้านเป็นชื่อสถานที่ในเมียนมาที่ถูกนำมาผูกเข้ากับเมนูอาหารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากร้านอาหารจีนยูนนานกับร้านอาหารฮ่องกงแล้ว ยังมีร้านอาหารอินเดียกับร้านอาหารไทยด้วย โดยชื่อของแต่ละร้านล้วนสื่อถึงชุดรหัสของประสบการณ์แห่งชีวิต ที่นอกจากจะบ่งบอกถึงความหมายของเชื้อชาติกับบ้านเกิดเมืองนอนของเจ้าของร้านแล้ว ยังสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในประเทศเมียนมาที่ถูกหล่อหลอมกันจนกลายมาเป็นภาพรวมในปัจจุบัน ประกอบการที่เมียนมามีพรมแดนติดกับจีน ไทย และลาว จึงทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ในประเทศเมียนมายังมีกลุ่มชาติพันธุ์นับร้อยกลุ่ม มีกลุ่มชาวจีนอพยพจากยูนนาน ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง และชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย
คนที่กลับมาจากเมียนมา
บนถนนหัวซินจะมีอยู่คำหนึ่งที่มักจะได้ยินคือคำว่า Myanmapyan เป็นภาษาเมียนมาแปลว่า “คนที่กลับมาจากเมียนมา” ก่อนที่จะมาไต้หวัน ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมากลุ่มนี้ไม่เคยอาศัยอยู่ในไต้หวันมาก่อน ดังนั้นการเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกในฐานะชนชาติเดียวกัน จึงทำให้การอพยพย้ายถิ่นฐานมายังไต้หวัน เปรียบเสมือนเป็น “การกลับประเทศ” อีกแบบหนึ่ง และเรียกตนเองว่า “ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาที่เดินทางกลับประเทศ”
ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาทุกคนล้วนเก็บซ่อนเรื่องราวการโยกย้ายถิ่นฐานที่เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์และอุปสรรคต่าง ๆ มากมายไว้ คุณเจี่ยนหมิงโหย่ว (簡明有) อดีตรองประธานสมาคม MYANMAR OVERSEAS CHINESE ASSOCIATION ที่นั่งอยู่ในร้านอาหารฮาลาลหลี่หยวนเป็นชาวจีนโพ้นทะเลอาวุโสจากเมียนมาที่อพยพมาอยู่ไต้หวันนานกว่า 30 ปีแล้ว ได้เล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราฟัง
คุณเจี่ยนหมิงโหย่ว เติบโตที่เมืองมยิจีนา (Myitkyina) ประเทศเมียนมา ในครอบครัวที่ทำธุรกิจค้าขายบริเวณชายแดนเมียนมา-จีนมาโดยตลอด และทยอยซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเมืองมยิจีนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงรุ่นพ่อของเขาจึงตัดสินใจอพยพจากมณฑลยูนนานมาอาศัยอยู่ที่เมียนมาอย่างถาวร
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว เขาได้ผ่านการสอบคัดเลือกเป็นนักศึกษาต่างชาติ และได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ (National Chengchi University, NCCU) ในสาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษา แต่ในขณะนั้นรัฐบาลทหารเมียนมาได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศ คุณเจี่ยนหมิงโหย่วนึกย้อนกลับไปว่า “การมาไต้หวันหมายความว่าจะไม่สามารถกลับไปได้ หรือเท่ากับการแยกจากกัน” อีกทั้งเขายังเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ผู้เป็นมารดาจึงไม่สามารถทำใจได้ แอบเอาหนังสือเดินทางที่ถูกส่งมาถึงบ้านไปซ่อนไว้ เพื่อไม่ให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ
ภูมิหลังในการเติบโตที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้คุณเจี่ยนหมิงโหย่วใช้ภาษาเมียนมาไม่คล่องแคล่วเท่าภาษาจีน แต่หลังจากทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดเพราะไม่ได้เดินทางมายังไต้หวัน เขาจึงไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้งในสาขาภาษาเมียนมา ประกอบกับในวัยเด็กเขาได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อย จึงทำให้มีทักษะทางภาษาที่หลากหลาย และมีความอ่อนไหวต่อความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก นี่ถือเป็นข้อได้เปรียบของเขา
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1981 เขาได้เดินทางมาอาศัยอยู่ที่ไต้หวันในฐานะผู้ย้ายถิ่น และได้ผ่านการสอบจนได้บรรจุเข้ารับราชการ ตลอดเวลากว่า 20 ปี เขาได้รับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจากต่างประเทศที่มาเยือนอนุสรณ์สถานซุนยัดเซ็น (National Dr. Sun Yat-Sen Memorial Hall) ภูมิหลังการเติบโตที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้หน้าที่การงานของเขาก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ผมเคยต้อนรับบิล คลินตัน, มาร์กาเรต แทตเชอร์ และมีคาอิล กอร์บาชอฟมาแล้ว” เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ในตอนนนั้น คุณเจี่ยนหมิงโหย่วยังคงรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ถนนหัวซินที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ลิตเติลเมียนมา” ได้จัดงานสงกรานต์ขึ้นเป็นประจำทุกปี (วันขึ้นปีใหม่ดั้งเดิมของเมียนมา) ทุกบ้านจะออกมาสาดน้ำและสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล (ภาพจาก จินหงเฮ่า)
เยือนลิตเติลเมียนมา ทำความรู้จักกับชาวเมียนมาเชื้อสายจีน
ภายใต้การแนะนำของคุณจางเปียวไฉ (張標材) ประธานสมาคม Huaxin Street Business District Development Association พวกเราได้เดินทางไปยังอีกร้าน Little Burma Tea and Snacks ซึ่งตั้งอยู่บนถนนซิ่งหนาน บริเวณทางเข้าถนนหัวซิน ด้วยความที่ร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนหัวซิน จึงทำให้ถูกนักท่องเที่ยวมองข้ามได้ง่าย ภายในร้านมีจำหน่ายทั้งเค้กกล้วยหอม ขนมเค้กน้ำตาลทรายแดง พุดดิ้งไข่ไก่ และขนมหวานสไตล์อาเซียนรสชาติดั้งเดิมอีกมากมาย
นอกจากของหวานแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือชานมหนึ่งแก้ว จากคำแนะนำของคนในพื้นที่ทำให้พวกเราทราบว่า ชานมเมียนมาแก้วเล็ก ๆ นี้ ก็เหมือนกับเครื่องดื่มที่ชงเขย่าแบบสด ๆ ของไต้หวัน ที่ลูกค้าสามารถเลือกปริมาณน้ำชา ครีมเทียม และน้ำตาลได้ตามใจชอบ ทำให้แต่ละแก้วล้วนเกิดจากความใส่ใจที่เจ้าของร้านตั้งใจทำออกมาเพื่อมอบให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ เมียนมาเป็นประเทศที่ศรัทธาทางศาสนามาก ก็ทำให้ถนนหัวซินมีการสร้างวัดขึ้นมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จนกระทั่งทุกวันนี้บนถนนหัวซินมีวัดอยู่ทั้งหมด 5 แห่ง สมกับชื่อที่ได้รับการขนานนามว่า “ลิตเติลเมียนมา” โดยแท้จริง
นอกจากการตามหาของอร่อยบนถนนเมียนมาในช่วงเวลาปกติแล้ว คุณจางเปียวไฉยังกล่าวอีกว่า ชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาก็ยังคงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของเมียนมาด้วยเช่นกัน เดือนเมษายนของทุกปีจะฉลองเทศกาลสงกรานต์ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีเทศกาลโคมไฟ รวมถึงงานประเพณีต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เรียกได้ว่าต่างก็เป็นงานใหญ่แห่งถนนหัวซินทั้งนั้น
เมื่อพวกเราได้ก้าวเข้าไปยังถนนเล็ก ๆ สายนี้ ทำให้ได้สัมผัสถึงความงดงามของผู้คน เรื่องราว และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย นอกจากจะทำให้คนได้รู้จักถึงความกล้าหาญและความกระตือรือร้นของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลจากเมียนมาแล้ว ยังทำให้รู้สึกประหลาดใจว่า สังคมไต้หวันช่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังแห่งการดูดซับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจริง ๆ