นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมา ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียนและบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ
ยุคแรกของสังคมเกษตรกรรม ผู้คนนิยมใช้งานเทศกาลต่าง ๆ มาแบ่งเป็นฤดูกาล อาทิ ตรุษจีน, ไหว้บ๊ะจ่าง, ไหว้พระจันทร์, วันตงจื้อ (เหมายัน) ... ฯลฯ ที่นอกจากจะมีลักษณะเฉพาะเพื่อการอธิษฐานขอพร, ปลอดจากภัยพิบัติ และการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว ยังสื่อความหมายถึงการพักผ่อน หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลทำเกษตรกรรมอันแสนวุ่นวายด้วย ขณะที่ความศรัทธาเจ้าแม่มาจู่ซึ่งก้าวข้ามกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาค เมื่อเผยแพร่เข้าสู่ไต้หวัน แล้วค่อย ๆ ผสมผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมประเพณีการเฉลิมฉลองกับพิธีแห่ที่หลากหลาย
ในปี ค.ศ. 2010 กรมมรดกทางวัฒนธรรม (Bureau of Cultural Heritage) กระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีการขึ้นทะเบียน “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ย” “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งศาลเจ้าเฉาเทียนกงเขตเป่ยกั่ง” และ “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุน” เป็นประเพณีพื้นบ้านที่มีความสำคัญระดับประเทศ ดังนั้นนิตยสารไต้หวันพาโนรามาฉบับนี้ คอลัมน์จากปกจึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะของเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวัน, สถาปัตยกรรมและงานหัตถศิลป์ที่เป็นตัวแทนแห่งความศรัทธา, ช่วงเวลาคลาสสิกของการแสวงบุญในไต้หวัน และประสบการณ์เข้าร่วมขบวนแห่ของชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นการนำเสนอให้เห็นลักษณะทางวัฒนธรรมของเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวันที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับ “รู้จักไต้หวัน” ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “มนต์เสน่ห์แห่งเส้นทางรถไฟเซินเอ้า : ถิ่นวัฒนธรรมเหมืองแร่ทองคำและถ่านหิน” ผ่านเส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าลัดเลาะไปตามชายทะเลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน พาเพื่อนผู้อ่านชาวอาเซียนไปพบเห็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นกับทัศนียภาพทางธรรมชาติ ทั้งนี้ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับ “ความพิเศษของอาเซียน” ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “สดับฟังบทเพลงแห่งออสโตรนีเซียน : โครงการ Small Island Big Song ดนตรีแห่งออสโตรนีเซียน” ที่แนะนำโครงการดนตรีใน 16 ประเทศเกาะออสโตรนีเซียน อันแสดงถึงการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของไต้หวันกับเกาะออสโตรนีเซียน
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป