เดือน 3 เดือนแห่งการสักการะเจ้าแม่มาจู่
สุดยอดเทพนารีของไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧ หลินเก๋อลี่ แปล‧ อัญชัน ทรงพุทธิ์
สิงหาคม 2022
00:00
ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ลงหลักปักฐานในไต้หวัน นอกจากนี้ไต้หวันยังถือเป็นดินแดนและศูนย์กลางแห่งความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ของโลกอีกด้วย
農曆三月,許多媽祖廟會藉由進香的名義,走出宮廟,親近信徒,形成萬人空巷的局面,其中又以台中大甲媽與苗栗通霄白沙屯媽的進香最受矚目。Discovery探索頻道更將大甲媽遶境進香列為世界三大宗教慶典之一。2010年,文化部文化資產局登錄「大甲媽祖遶境進香」、「北港朝天宮迎媽祖」、「白沙屯媽祖進香」為國定的重要民俗。媽祖信仰也是世界非物質文化遺產,而台灣正是世界媽祖信仰的核心與重鎮。
เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติจีนเป็นช่วงเวลาที่ศาลเจ้าแม่มาจู่มากมายหลายแห่ง จัดพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่พร้อมกับถือโอกาสนี้อัญเชิญองค์เจ้าแม่มาจู่ลงจากแท่นประทับและแห่ออกมานอกศาลเจ้า เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้ศรัทธา ซึ่งทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่คลื่นผู้คนนับหมื่นนับแสนออกมาออกันเต็มท้องถนน เพื่อรอกราบไหว้สักการะองค์เจ้าแม่มาจู่ ในจำนวนนี้เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ย นครไทจง และศาลเจ้าแห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุน เขตทงเซียว เมืองเหมียวลี่ ได้รับความสนใจจากผู้คนมากที่สุด
เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ถือเป็นเดือนแห่งการสักการะเจ้าแม่มาจู่
แต่ความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือการใช้พิธีแห่องค์เจ้าแม่ไปยังพื้นที่อื่นเพื่อเป็นการเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน เรื่องราวและสิ่งของ ในภาพเป็นขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนปี ค.ศ.2018 (ภาพโดย หลินเก๋อลี่)
Discovery Channel ยกย่องพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ยให้เป็น 1 ใน 3 พิธีกรรมทางศาสนาที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ในปี ค.ศ. 2010 กรมมรดกทางวัฒนธรรม (Bureau of Cultural Heritage) กระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีการขึ้นทะเบียน “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ย” “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งศาลเจ้าเฉาเทียนกง เขตเป่ยกั่ง” และ “พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุน” เป็นประเพณีพื้นบ้านที่มีความสำคัญระดับประเทศ นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ ยังถูกจัดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ของมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้ โดยไต้หวันถือเป็นดินแดนและศูนย์กลางแห่งความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ของโลกอีกด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับวิถีชีวิตของชาวไต้หวัน ศาลเจ้า คือศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมต่าง ๆ ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน ในภาพคือศาลเจ้าก่งเทียนกง (ภาพโดย จวงคุน)
เกี้ยวที่ผู้คนแย่งกันเข้าไปรุมล้อม ภายในมีองค์เจ้าแม่มาจู่ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งสวรรค์ที่ได้รับการเคารพศรัทธามากที่สุดในไต้หวันประทับอยู่ มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า เจ้าแม่มาจู่เดิมเป็นหญิงสาวที่มีเวทมนตร์คาถา นามว่า หลินม่อ (林默) มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 960-1127) เดิมเป็นเทพธิดาที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ชาวประมงในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานวันเข้า เรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่มาจู่ ถูกกล่าวขานและมีการเล่าต่อ ๆ กันมากขึ้น จนกลายเป็นอานุภาพของเจ้าแม่มาจู่ครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” และเจ้าแม่มาจู่ยังได้รับการขนานนามว่า เทพแห่งการชลประทาน และเทพแห่งการเกษตรอีกด้วย
ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา จักรพรรดิจีนทุกพระองค์จะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งและยกสถานะเจ้าแม่มาจู่ให้สูงขึ้นอยู่เสมอ ในช่วงต้นของยุคราชวงศ์ชิง ซือหลัง (施琅) แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพราชวงศ์ชิงได้ส่งสาส์นกราบทูลจักรพรรดิคังซีว่า ด้วยอานุภาพแห่งองค์เจ้าแม่มาจู่ช่วยหนุนนำให้สามารถปราบกบฏบนเกาะไต้หวันได้อย่างราบคาบ จักรพรรดิคังซีจึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเจ้าแม่มาจู่เป็น “เทียนโฮ่ว” (天后) ซึ่งหมายถึง ราชินีแห่งสวรรค์ ส่งผลให้ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ได้รับการเชิดชูขึ้นถึงจุดสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้แก่ความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวันด้วย
การเข้าร่วมพิธีแห่เจ้า
แม่มาจู่อันยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นปีละครั้ง ช่วยเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบสามัญชนในไต้หวันที่อบอวลไปด้วยมิตรไมตรีและทดลองสัมผัสกับความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์ในแบบฉบับของไต้หวัน
ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ที่หยั่งรากลึกในจิตใจของชาวไต้หวัน
ไต้หวันเป็นสังคมแห่งการอพยพย้ายถิ่น ผู้ย้ายถิ่นในยุคแรกมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองเฉวียนโจวและจังโจว มณฑลฝูเจี้ยนของจีน ซึ่งจะยอมรับเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาเดียวกัน ทำให้ตลอดช่วงเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมาเกิดการสู้รบเพื่อแย่งชิงทรัพยากรและเพื่อความอยู่รอดของตนเอง อย่างไม่ขาดระยะ จนกระทั่งหลังปี ค.ศ. 1860 การสู้รบอันเกิดจากการแบ่งพรรคแบ่งพวกเริ่มบรรเทาเบาบางลง ผู้ย้ายถิ่นได้ลงหลักปักฐานและหันมา
ยอมรับผืนแผ่นดินไต้หวันร่วมกัน แต่เมื่อต้องสร้างศาลเจ้าประจำหมู่บ้านเพื่อให้เป็นศูนย์รวมความเชื่อทางศาสนา ก็เกิดปัญหาว่า ควรจะเซ่นไหว้เทพเจ้าองค์ใด? ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลวี่เหมยหวน (呂玫鍰) จากภาควิชามานุษยวิทยาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชิงหัว (National Tsing Hua University : NTHU) อธิบายว่า ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และเขตพื้นที่ คือเหตุผลหลักที่ทำให้เจ้าแม่มาจู่ได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวฮั่นที่อพยพมาอาศัยอยู่ในไต้หวัน
สำหรับชื่อเรียกเจ้าแม่มาจู่ในภาษาจีน นอกจากเรียกตามตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิจีน อาทิ เทียนเฟย (天妃) เซิ่งเฟย (聖妃) และเทียนโฮ่ว (天后 ) แล้ว ในไต้หวันยังมีชื่อเรียกเป็นภาษาฮกเกี้ยนที่ให้ความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนมและเป็นกันเอง อย่างเช่น ม่าจ้อโป๋ (媽祖婆) โป๋อ้า (婆啊) โกวโป๋ (姑婆) และนิวม่า (娘媽) เป็นต้น ในขณะที่คนในตระกูลหลินมักจะเรียกเจ้าแม่มาจู่ว่า โกวโป๋จ้อ (姑婆祖) แปลว่า ย่าทวด คุณหลินเหม่ยหรง (林美容) นักวิจัยประจำสถาบันชาติพันธุ์วิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ (Institute of Ethnology, Academia Sinica) อธิบายว่า ชื่อเรียกที่มีการเติมคำลำดับญาติผู้ใหญ่ลงไปด้วยเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างชาวไต้หวันกับเจ้าแม่มาจู่ที่เปรียบเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่ในตระกูล ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็สามารถเล่าให้เจ้าแม่ฟังได้หมด และมีเด็ก ๆ จำนวนมากที่ถูกยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าแม่มาจู่
ของที่ระลึกที่เหล่าสานุศิษย์ทำขึ้นเองเพื่อเป็นประจักษ์พยานของการผูกบุญสัมพันธ์กับเจ้าแม่มาจู่และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความผูกพันระหว่างกันของมนุษย์ อีกทั้งเป็นการเชิดชูความเมตตากรุณาและความปรารถนาดีของเจ้าแม่มาจู่ให้กว้างไกลออกไป
คุณลักษณะที่แตกต่างกันของม่าจ้อโป๋ในแต่ละท้องที่
ผศ. ลวี่เหมยหวน ซึ่งคลุกคลีอยู่กับการวิจัยความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่มาเป็นเวลายาวนานกล่าวถึง “พิธีแห่เจ้ามาจู่” ที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ว่า จากประวัติความเป็นมาของความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนาแล้ว พิธี “จิ้นเฮี้ยว” ภาษาจีนกลางออกเสียงจิ้นเซียง (進香) กับพิธี “เย้าเกี่ยง” ภาษาจีนกลางออกเสียงเร่าจิ้ง (遶境) มีความหมายแตกต่างกันมาก ในอดีตพิธี “จิ้นเฮี้ยว” คือการที่สานุศิษย์ติดตามขบวนแห่ของศาลเจ้าประจำชุมชนไปสักการะศาลเจ้าดั้งเดิมหรือศาลเจ้าที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานกว่า ซึ่งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้าจะเป็นในลักษณะของผู้น้อยไปแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ ส่วนพิธี “เย้าเกี่ยง” เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิดที่เทพประจำศาลเจ้าออกตรวจเยี่ยมพื้นที่ในความรับผิดชอบ เป็นการช่วยชำระชะล้างและขจัดปัดเป่าเภทภัยเพื่อสร้างความผาสุกให้แก่สานุศิษย์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของผู้ใหญ่ให้การดูแลผู้น้อย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเกิดความสับสนเกี่ยวกับความหมายของพิธีจิ้นเฮี้ยวกับพิธีเย้าเกี่ยง ไม่มีการเน้นเรื่องสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้า แต่กลับให้ความสำคัญกับการเยี่ยมเยือนหรือการจัดพิธีกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างศาลเจ้าในสถานะที่เท่าเทียมกัน โดยทั่วไปเมื่อเสร็จสิ้นการประกอบพิธีจิ้นเฮี้ยวที่ศาลเจ้าต่างถิ่นและอัญเชิญไฟที่เรียกว่าเฮี้ยวโห้ย ภาษาจีนกลางออกเสียง เซียงหั่ว
(香火) จากดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับมาแล้ว จะจัดขบวนแห่องค์เทพไปตามพื้นที่ในความรับผิดชอบเพื่อแบ่งปันความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ศรัทธา
หลังได้ร่วมเดินเท้าไปพร้อมกับขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งเขตต้าเจี่ยกับขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งหมู่บ้านไป๋ซาถุนแล้ว ผศ.ลวี่เหมยหวนกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างขบวนแห่ของสองศาลเจ้านี้ว่า ศาลเจ้าเจิ้นหลันกง เขตต้าเจี่ย นครไทจง เป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวัน พิธีแห่เจ้าแม่มาจู่ที่จัดขึ้นปีละครั้งจะเริ่มออกเดินทางจากเขตต้าเจี่ยไปยังจุดหมายปลายทางคือศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ตำบลซินกั่ง เมืองเจียอี้ เพื่อจัดพิธีเฉลิมฉลองวันประสูติเจ้าแม่มาจู่ร่วมกับศาลเจ้าแห่งตำบลซินกั่งโดยมีเหล่าผู้ศรัทธาร่วมอวยพร เส้นทางของขบวนแห่จะผ่าน 4 เมือง ได้แก่ ไทจง จางฮั่ว หยุนหลินและเจียอี้ ใช้เวลาเดินทาง 9 วัน 8 คืน รวมระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร
หากเปรียบเทียบกับศาลเจ้าแม่มาจู่ที่เขตต้าเจี่ย ศาลเจ้าก่งเทียนกง ที่หมู่บ้านไป๋ซาถุน ตำบลทงเซียว เมืองเหมียวลี่ จัดเป็นศาลเจ้าระดับหมู่บ้านเท่านั้น แต่ในความรู้สึกของเหล่าผู้ศรัทธาแล้ว เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนจะมีความใกล้ชิดและเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาและคอยให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่เสมอ ทุกปีจะมีพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนไปยังศาลเจ้าเฉาเทียนกง ตำบลเป่ยกั่ง เมืองหยุนหลิน เพื่อทำพิธีจิ้นเฮี้ยว โดยใช้วิธีเดินเท้าตลอดระยะทางทั้งหมดประมาณ 400 กว่ากิโลเมตร และไม่มีการกำหนดเส้นทางที่แน่นอนไว้ล่วงหน้า การหยุดพักหรือทิศทางของขบวนแห่จะขึ้นอยู่กับการบัญชาของเจ้าแม่ ด้วยเหตุที่เส้นทางของขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ไม่มีการกำหนดแน่นอน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เหล่าสานุศิษย์ต่างถิ่นที่จะได้ขอพรและปฏิสัมพันธ์กับเจ้าแม่มาจู่มากขึ้น ซึ่งเป็นบทพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า “อานุภาพแห่งองค์เจ้าแม่มาจู่ ไม่เพียงช่วยปกปักรักษาสานุศิษย์ในท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังปกป้องคุ้มครองคนต่างถิ่นด้วย”
การเดินทางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์
ผศ. ลวี่เหมยหวนอธิบายว่า “โดยหลักการแล้วพิธีจิ้นเฮี้ยวเป็นการเดินทางในนามของเทพเจ้าประจำถิ่นออกไปยังพื้นที่อื่น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับเขตพื้นที่อื่น ทั้งในด้านศาสนา การเมือง เศรษฐกิจและกลุ่มชน โดยเป็นการสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน”
ในอดีตผู้ศรัทธาและสานุศิษย์ที่เข้าร่วมพิธีจิ้นเฮี้ยวของเจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนจะเรียกว่า เฮี้ยวเตียงคา (香燈腳) ซึ่งต้องเป็นคนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันร้อยละ 90 ขึ้นไปเป็นคนต่างถิ่นและเนื่องจากเส้นทางของขบวนแห่ที่ไม่มีการกำหนดแน่นอนประกอบกับจังหวะก้าวย่างของแต่ละคนจะช้าและเร็วแตกต่างกันไป การเดินตามเกี้ยวเจ้าแม่มาจู่หรือเรียกว่า ซุยเฮี้ยว (隨香) จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงมีคำกล่าวกันในหมู่สานุศิษย์ว่า “คนที่เดินเร็วต้องรอคนที่เดินช้า” ซึ่งมีความหมายว่า ระหว่างการเดินทางทุกคนต้องให้ความช่วยเหลือและคอยดูแลซึ่งกันและกัน
ในระหว่างการเดินทาง อาหารการกินและที่พักค้างคืนของขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนจะมีเหล่าผู้ศรัทธาเป็นผู้จัดหาให้ ผศ. ลวี่เหมยหวนเล่าว่า การบริจาคเหล่านี้ล้วนต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าแม่มาจู่ก่อน ผู้ศรัทธาจะใช้วิธีเสี่ยงทายโดยการปัวะโป้ย (หมายถึงการเสี่ยงทายด้วยไม้ประกบคู่ที่มีลักษณะเป็นไม้นูนโค้งหลังเต่าด้านหน้าเรียบ 1 ชุดมีสองอัน เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสื่อสารระหว่างผู้ศรัทธากับเทพเจ้า) เพื่อขอคำบัญชาจากเจ้าแม่มาจู่ว่าอนุญาตหรือไม่? และต้องจัดเตรียมไว้ในปริมาณมากน้อยเพียงใด? โดยปกติแล้วเมื่อเจ้าแม่มาจู่ตอบรับก็จะแจกออกไปจนหมดเกลี้ยง ไม่ทำให้เกิดสภาพการณ์ฟุ่มเฟือยทรัพยากรหรือสร้างภาระแก่สานุศิษย์
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ ขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่นิยมจัดทำของที่ระลึกที่เกี่ยวกับเจ้าแม่ อาทิ ถุงมงคล การ์ดที่ระลึก ที่ห้อยโทรศัพท์ กระเป๋าเป้ และพวงกุญแจ เป็นต้น เพื่อนำมาแจกให้แก่ผู้ศรัทธาที่มีบุญวาสนาได้พบเจอกันในระหว่างการเดินทางหรือผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในการจัดที่พักค้างคืนให้แก่ขบวนแห่ ของที่ระลึกเหล่านี้ถือเป็นของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นประจักษ์พยานของการผูกบุญสัมพันธ์กับเจ้าแม่มาจู่และยังเป็นเครื่องเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างกันของมนุษย์อีกด้วย
คุณหลินเหม่ยหรงอธิบายว่า ในสังคมชาวฮั่น อิทธิฤทธิ์และพลังอำนาจของเทพเจ้าหรือเทพที่เป็นเพศชายจะสะท้อนให้เห็นจากการที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาสักการบูชา แต่สำหรับเจ้าแม่มาจู่จะอาศัยการเคลื่อนย้ายขบวนแห่ไปประกอบพิธีจิ้นเฮี้ยวเพื่อเชื่อมโยงรวมพลังในพื้นที่ต่าง ๆ และเพิ่มพูนความศรัทธา ซึ่งก็เหมือนกับสภาพสังคมแบบดั้งเดิมของชาวฮั่นที่ผู้ชายมีหน้าที่ทำงานนอกบ้านเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านและครอบครัว ผู้หญิงจะเก่งในเรื่องของผูกมิตร ผู้หญิงชอบไปนั่งคุยกับเพื่อนบ้านและไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องเพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างกัน คุณหลินเหม่ยหรงพรรณนาถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้หญิงในสังคมชาวฮั่นได้อย่างมีชีวิตชีวา ดังนั้นพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่ก็เหมือนกับการไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้าน การเชื่อมโยงเข้าหากัน ทำให้เกิดเป็นพลังอำนาจ “ความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ในไต้หวันที่เฟื่องฟูถึงขนาดนี้ สะท้อนถึงสังคมปิตาธิปไตยที่ให้การยอมรับศักยภาพของผู้หญิง”
เดินไปบนเส้นทางของตนเอง
“หากย้อนกลับไปมองไต้หวันในศตวรรษที่แล้ว ด้วยความรู้สึกของคนในยุคปัจจุบันที่เชิดชูค่านิยมที่ตั้งอยู่บนความมีเหตุผลและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเมื่อเทียบกับความเชื่อทางศาสนาของโลกตะวันตก ศาสนาพื้นบ้านถูกมองว่า ล้าสมัย งมงายและเป็นเรื่องของการแสวงผลประโยชน์” ผศ. ลวี่เหมยหวนกล่าว และยังได้เล่าถึงการสำรวจภาคสนามในพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน ปี ค.ศ. 2001 ว่า “ในปีนั้น ระหว่างการเดินทางในช่วงขากลับของขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน ไม่ได้เดินบนสะพานซีหลัว แต่ได้ทำตามการบัญชาของเจ้าแม่มาจู่ลุยน้ำข้ามแม่น้ำจั๋วสุ่ย ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างเป็นประจักษ์พยานนาทีแห่งประวัติศาสตร์ หลายคนถามว่า “จะลุยลงไปในน้ำจริง ๆ หรือ?” แต่สานุศิษย์ท้องถิ่นที่ทำหน้าที่นำขบวนแห่บอกว่า “ไม่ต้องตกใจ! เจ้าแม่มาจูจะนำทาง ไม่ต้องกลัว!” ด้วย “ศรัทธาความเชื่อ” เช่นนี้นี่เอง ทำให้ทุกคนถอดถุงเท้าและรองเท้า ต่างจูงมือกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ย่ำลงไปบนพื้นทรายในท้องน้ำ “ในระหว่างที่กำลังลุยน้ำอันเย็นเฉียบในแม่น้ำอยู่นั้น ฉันรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นและความจริงใจของผู้ร่วมขบวนแห่ที่จับมือกันก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำผู้คนต่างก้มกราบเจ้าแม่มาจู่ด้วยใบหน้าที่เปี่ยมด้วยพลังศรัทธาท่ามกลางสายลมอ่อน ๆ ที่พัดพรูและหอบเอาเศษฝุ่นทรายขึ้นมาปกคลุมคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ ภาพอันงดงาม ณ ขณะนั้น ทำให้ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างปลื้มปีติจนน้ำตาไหลออกมา” ผศ. ลวี่เหมยหวนเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น พร้อมสรุปว่า “แสดงให้เห็นว่า ศรัทธาความเชื่อนี้ได้สถิตในดวงใจของทุกคนแล้ว”
จากการที่กระแสความนิยมวัฒนธรรมท้องถิ่นไต้หวันที่โหมกระพือขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้ ส่งผลให้การเข้าร่วมกิจกรรมแห่เจ้าแม่มาจู่กลายเป็นประสบการณ์ที่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่คาดหวังว่า “ต้องทดลองสัมผัสด้วยตนเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต” คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ถนัดในการใช้ภาพถ่ายมาบันทึกช็อตเด็ดในระหว่างร่วมขบวนแห่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจต่างจากคนรุ่นเก่า บรรดานักศึกษาได้แชร์ประสบการณ์กับ ผศ. ลวี่เหมยหวน เกี่ยวกับเรื่องอาหารเลิศรสในท้องที่ต่าง ๆ ที่ต้องลิ้มลองในระหว่างการเดินทาง และเมื่อเท้าเกิดมีตุ่มพองขึ้นมาในระหว่างการเดินทางจะจัดการยังไง “คนหนุ่มสาวเหล่านี้ สิ่งที่พวกเขาสนใจก็คือ “ฉันอยู่ที่นี่” และ “ฉันรู้สึกยังไงบ้าง” เป็นต้น”
การใช้ร่างกายของตนเองไปทดลองสัมผัสกับวัฒนธรรม ต้องการที่จะทำความเข้าใจกับสังคมนี้ อยากจะไปดูว่าคนอื่นใช้ชีวิตกันยังไง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งนี้คือการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นและความภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง
ด้านคุณหลินเหม่ยหรงซึ่งทุ่มเทให้กับการวิจัยวัฒนธรรมท้องถิ่นของไต้หวันมาเป็นเวลายาวนานกลับกล่าวว่า ในอดีตวัฒนธรรมท้องถิ่นจะถูกปิดกั้น จนกระทั่งเกิดกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อไต้หวันในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์และปลุกกระแสการทำความรู้จักกับผืนแผ่นดินของตนเองให้ค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา เจ้าแม่มาจู่เป็นเทพนารีอันดับ 1 ในไต้หวัน และความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับวิถีการดำรงชีวิตของชาวไต้หวัน ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะเดือน 3 (ตามปฏิทินจันทรคติจีน) เท่านั้นที่เกิดกระแสแห่แหนกันไปสักการะเจ้าแม่มาจู่ แต่คนไต้หวันจะบูชาเจ้าแม่มาจู่ตลอดทั้งปี ศาลเจ้าแม่มาจู่จำนวนมากความจริงก็คือพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งนั่นเอง เพราะเป็นสถานที่ที่อนุรักษ์ผลงานของช่างฝีมือและประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยเอาไว้ และอานิสงส์จากความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่มาจู่ที่เฟื่องฟูขึ้นยังส่งผลให้ศิลปะพื้นบ้าน อาทิ คณะดนตรีจีน คณะเชิดสิงโต-มังกร และคณะองครักษ์เทพเจ้า มีการพัฒนาไปสู่รูปลักษณ์ใหม่
คุณหลินเหม่ยหรงได้เชื้อเชิญเพื่อนชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน อย่าลืมแวะเข้าไปนมัสการศาลเจ้าแม่มาจู่หรือร่วมพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่อันยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นปีละครั้ง เพื่อเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบสามัญชนในไต้หวันที่อบอวลไปด้วยมิตรไมตรีและทดลองสัมผัสกับความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์ในแบบฉบับของไต้หวัน