ภาพแห่งชีวิตของเหล่าเวไนยสัตว์
มองพลังชีวิตจากจิตศรัทธาผ่าน “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน”
เนื้อเรื่อง‧ เฉินฉุนฟาง ภาพ‧ เฉินอี้หง แปล‧ ธีระ หยาง
สิงหาคม 2022
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ซึ่งเฉินอี้หงได้เริ่มถ่ายภาพขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน เส้นทางเดินที่ไม่แน่นอน ถือเป็นบททดสอบร่างกายที่สำคัญของช่างภาพ แต่ละภาพที่บันทึกเอาไว้ได้ ต่างก็ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ ในภาพคือขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ขณะเดินทางกลับผ่านถนนเลียบชายฝั่งตะวันตก ซึ่งเฉินอี้หงสามารถบันทึกภาพของขบวนแห่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลมเอาไว้ได้
俗諺說:「三月瘋媽祖,四月王爺生。」每年農曆三月開始,台灣的媽祖廟就更顯熱鬧,尤其大甲媽祖遶境進香、白沙屯媽祖進香,總吸引大批民眾跟著媽祖徒步前行,帶來一股安定的精神力量。
而出生屏東東港的攝影師陳逸宏,自1990年參加大甲媽祖遶境進香後,便與媽祖結下緣分,此後30多年來,他帶著對信仰力量的好奇及專業的攝影技巧,記錄下台灣廟會祭典,並在去(2021)年集結出版《朝聖台灣》。
本期《光華》,將透過陳逸宏的鏡頭,看見台灣民間信仰裡,珍貴而美麗的人文風景。
มีคำกล่าวว่า “เดือน 3 คลั่งมาจู่ เดือน 4 วันเกิดอ้วงเอี้ย (หวังเย๋)” ในแต่ละปี เมื่อถึงเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ ศาลเจ้าแม่มาจู่ทั่วไต้หวันก็จะคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ที่ต้าเจี่ยในนครไทจง และที่ไป๋ซาถุนของเมืองเหมียวลี่ ต่างก็ดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมาก ให้เดินตามขบวนแห่ของเจ้าแม่ ถือเป็นพลังแห่งจิตศรัทธาที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกได้ถึงความสุขอันสงบ
ในสายตาของเฉินอี้หงแล้ว พิธีเซ่นไหว้ของศาลเจ้าเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะและสุนทรียศาสตร์ เขาจึงอยากที่จะบันทึกภาพเหล่านี้มาบอกเล่าให้ผู้คนได้รู้จักถึงพลังชีวิตแห่งวัฒนธรรมพื้นบ้านของไต้หวัน
หลังจากที่เฉินอี้หง (陳逸宏) ช่างภาพผู้มีถิ่นกำเนิดในตำบลตงกั่งของเมืองผิงตง ได้มีโอกาสเข้าร่วมขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ของต้าเจี่ยในปี ค.ศ. 1990 แล้ว ก็มีความผูกพันกับเจ้าแม่มาจู่เป็นอย่างมาก หลังจากนั้น ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เขาได้นำเอาพลังแห่งศรัทธาและความอยากรู้อยากเห็นรวมถึงเทคนิคในการถ่ายภาพแบบมืออาชีพ มาใช้ในการบันทึกเรื่องราวของพิธีกรรมและงานวัดต่าง ๆ ทั่วไต้หวัน ก่อนจะรวบรวมและนำมาตีพิมพ์เป็นอัลบั้มภาพในชุด “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน” เมื่อปี ค.ศ. 2021
ในภาพคือพิธีรับเจ้าพ่ออ้วงเอี้ยของตงกั่ง เด็กผู้ชายซึ่งเป็นม้าทรงของเจ้าพ่อเบญจพิษ ออกตระเวนไปทั่วเมือง โดยเหล่าผู้มีจิตศรัทธาคุกเข่าลงกราบไหว้
มุมมองของการถ่ายทำที่เรียนรู้ผ่านพิธีเซ่นไหว้
“ครูครับ ผมอยากไปเป็นคนทรงหรือคนเต้นนำขบวนแห่เจ้า” เฉินอี้หงในวัยเด็กมักจะบอกกับคุณครูแบบนี้ เฉินอี้หงถือกำเนิดที่ตงกั่งของเมืองผิงตง ตั้งแต่เริ่มจำความได้ก็รู้ดีว่า พิธีเซ่นไหว้รับเจ้าพ่ออ้วงเอี้ยที่จัดขึ้นทุก ๆ สามปีถือเป็นงานใหญ่ประจำตำบล ชาวบ้านจะมีส่วนร่วมกับงานนี้กันอย่างถ้วนหน้า
คุณพ่อของเฉินอี้หงคือหนึ่งในทีมคนแบกเกี้ยวของขบวนแห่เจ้าพ่ออ้วงเอี้ย “ผมถือแส้และสวมชุดของคนเลี้ยงม้า เดินตามม้าทรงมาตั้งแต่เด็ก” ที่บ้านของเฉินอี้หงมีหมวกที่เป็นสัญลักษณ์ของทีมแบกเกี้ยวที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น ทำให้เขาพูดอย่างภาคภูมิใจว่า “ผมเป็นลูกหลานของอ้วงเอี้ยกงแห่งตงกั่ง มันคือสิ่งที่เป็นมาตลอดชีวิต ถึงตายก็ไม่เปลี่ยนแปลง”
เฉินอี้หงที่เติบโตมากับพิธีเซ่นไหว้ต่าง ๆ พูดปนเสียงหัวเราะว่า ตัวเองได้เห็นพิธีกรรมใหญ่ ๆ มาตั้งแต่เด็กแล้ว เช่น “พิธีฉิงสุ่ย (請水)” ขบวนแห่ที่ยาวหลายกิโลเมตรไปตามแนวชายฝั่ง ค่อย ๆ เดินลุยลงไปในทะเล ดูแล้วเป็นภาพที่อลังการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขบวนของ 13 ขุนพลเกราะทองซึ่งถือเป็นสีสันของขบวนแห่ที่มีเฉพาะในตงกั่งเท่านั้น ใบหน้าของทุกคนจะถูกวาดให้เป็นลวดลายของสัตว์ นกและบุพชาติต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่เฉินอี้หงเห็นว่า เป็นวัฒนธรรมไต้หวันที่ทำให้คนต่างชาติรู้สึกทั้งอึ้งและทึ่งเป็นอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่เขาอยากจะใช้กล้องมาบันทึกภาพอันตระการตานี้เก็บเอาไว้
“สำหรับผมแล้ว การถ่ายทำพิธีกรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งธรรมดา ๆ เหมือนกับการกินข้าวหรือดื่มน้ำ” เฉินอี้หงกล่าว
พิธีอัญเชิญเจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนขึ้นเกี้ยวก่อนเริ่มขบวนแห่ ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากไปชื่นชมโฉมหน้าอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์เจ้าแม่
ความศรัทธาในเจ้าแม่มาจู่ทำให้เกิดยูโธเปีย
หลังจากมีประสบการณ์ในการถ่ายทำพิธีเซ่นไหว้ต่าง ๆ มานานหลายสิบปี เมื่อปีที่แล้วเฉินหงอี้ได้ออกอัลบั้มภาพชุด “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน : บันทึกภาพจากประสบการณ์ 30 ปี ของนักข่าวผู้เข้าร่วมพิธีเซ่นไหว้มาจู่และประเพณีเผาเรือเจ้า” ซึ่งมีกว่า 300 ภาพ จากสถานที่จริงเกี่ยวกับสองประเพณีพื้นบ้านอันยิ่งใหญ่ของไต้หวัน คือ การแห่เจ้าแม่มาจู่และการเซ่นไหว้เทพเจ้าหวังเย๋ ซึ่งความศรัทธาของประเพณีทั้ง 2 นี้ มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับเฉินอี้หง ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าอ้วงเอี้ยมาจากบ้านเกิดของเขา ส่วนความผูกพันกับเจ้าแม่มาจู่มาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1990 เฉินอี้หงที่เป็นสมาชิกของชมรมถ่ายภาพขณะเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ถูกอาจารย์เฉินคุนซานที่เป็นอาจารย์สอนถ่ายภาพของชมรมพาไปร่วมขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ของต้าเจี่ยเป็นครั้งแรก
การเดินทางในครั้งนั้น ทำให้เฉินอี้หงที่รักการถ่ายภาพมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากที่จะได้ลองอะไรใหม่ ๆ โดยในตอนนั้น เจ้าตัวกำลังคลั่งไคล้การถ่ายภาพขาวดำ จึงได้นำฟิล์มขาวดำไปบันทึกภาพของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้พบเจอระหว่างไปร่วมขบวนแห่ ทั้งภาพอันสุดอลังการขณะที่ขบวนแห่เริ่มออกเดินโดยมีประชาชนผู้มีจิตศรัทธามาเข้าร่วมนับหมื่นนับแสนคน ภาพหลังคาของศาลเจ้าเจิ้นหลันกงที่มองเห็นแสงดาวเป็นประกายระยิบระยับ แสดงให้เห็นว่ายิ่งค่ำมืดดึกดื่นบรรยากาศก็ยิ่งสวยงาม และยังมีภาพของประชาชนมาตั้งโต๊ะเซ่นไหว้อยู่หน้าบ้านตลอดสองข้างทาง พร้อมถือธูปรอให้ขบวนแห่เดินผ่านด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้าในเจ้าแม่มาจู่ ภาพของรถอีแต๋นที่ใช้นำขบวน หรือแม้แต่ภาพของเหล่าเจียเจี้ยง (家將 เป็นขุนพลองครักษ์ที่เดินนำขบวนแห่เป็นกลุ่มเพื่อทำหน้าที่เบิกทางและปราบเหล่าวิญญาณร้ายไปตลอดทาง) ที่กำลังพักผ่อนนอนหลับอยู่ข้างเท้าของเทวรูป
ตลอดเส้นทางที่ขบวนแห่เดินผ่าน จะมีประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำเสบียงอาหารมาวางเรียงรายอยู่เต็มสองข้างทาง มีอาม่าที่เขาไม่รู้จักเอาของกินมาใส่ในเป้ของเขาจนเต็มด้วยความกลัวว่าเขาจะรู้สึกหิว ขอเพียงสวมใส่ปลอกแขนช่างภาพของศาลเจ้าเจิ้นหลันกง ชาวบ้านทุกคนยินดีเปิดบ้านต้อนรับ และให้เข้าไปใช้ห้องน้ำได้ตามสะดวก หากรู้สึกเหน็ดเหนื่อยก็สามารถเข้าไปนอนพักผ่อนได้ที่อาคารผู้แสวงบุญ เบาะหลังของรถบรรทุก หรือแค่ปูเสื่อนอนบนพื้นที่อยู่ใต้หลังคา “ผมสามารถนอนหลับอยู่ข้างทางโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนมาขโมยกล้องเลย” เมื่ออยู่ต่อหน้าเทพเจ้า ทุกคนเท่าเทียมกันหมด แต่ละคนจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทุกอย่างเปี่ยมไปด้วยความปรองดองและความเป็นสิริมงคล บรรยากาศและภาพเช่นนี้ ทำให้เฉินอี้หงที่เรียนวิชาเอกด้านสังคมศาสตร์ถึงกับต้องอุทานออกมาว่า นี่มันคือโลกแห่งยูโธเปียชัดๆ!
หลังจากที่ขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่เริ่มออกเดิน เฉินอี้หงมีโอกาสได้ถ่ายภาพในบ้านของชาวบ้านที่กำลังเซ่นไหว้เจ้าแม่มาจู่โดยบังเอิญ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้สร้างความตื้นตันใจให้เขาเป็นอย่างมาก จนทำให้มีความคิดที่จะถ่ายภาพผลงานในชุด “ขบวนแห่ได้ฤกษ์ออกเดินทางแล้ว”
สนามซ้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
การแห่เจ้าแม่มาจู่ของไป๋ซาถุนจะมีการกำหนดเฉพาะวันออกเดินทาง วันทำพิธีจิ้นหั่ว (進火 เป็นพิธีที่องค์เทวรูปซึ่งแบ่งภาคออกมาประจำอยู่ในศาลเจ้าแห่งอื่น กลับไปเข้าพบเจ้าองค์ใหญ่เดิมที่ศาลเจ้าแห่งเดิม) และวันที่ต้องกลับมาถึงศาลเจ้าเท่านั้น โดยจะไม่กำหนดเส้นทางเดิน เวลาหยุดพัก และสถานที่ที่จะหยุดพัก ทุกอย่างขึ้นกับคำบัญชาขององค์เจ้าแม่ที่อยู่บนเกี้ยว ทำให้เคยมีเหตุการณ์ที่จะต้องเดินจากทงเซียวของเมืองเหมียวลี่ไปถึงศาลเจ้าเฉาเทียนกงอันเป็นจุดหมายที่อยู่ในเป๋ยกั่งของเมืองหยุนหลิน ภายในเวลา 36 ชั่วโมงเท่านั้น ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ขบวนแห่จึงต้องเดินทางด้วยความรีบเร่งเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นขบวนแห่ที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมากมาย เหมือนกับเหล่านักแสดงบนเวทีที่ต้องรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงในระหว่างการแสดงสดให้ได้ จึงทำให้มีผู้ที่ทำงานด้านละครเวทีไม่น้อยนิยมมาร่วมขบวนแห่กัน เพื่อฝึกซ้อมการรับมือกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เฉินอี้หงอยากรู้ว่า สนามฝึกซ้อมที่เหล่าคนทำงานในโรงละครพูดถึงคืออะไร และอยากรู้ว่ามีพลังอำนาจเบื้องลึกอะไรที่แอบแฝงและคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังของพลังแห่งศรัทธานี้ แต่ก็อย่างที่หวงเจี้ยนเลี่ยง อาจารย์สอนการถ่ายภาพบอกกับเขาว่า “คุณต้องไปดูด้วยตาตัวเองที่สถานที่จริง เพราะคำตอบอยู่ที่นั่น”
ในขณะที่เฉินอี้หงได้ตามถ่ายภาพพิธีเอ้อมาหยิวจวง ได้เห็นขบวนของเหล่าเทพเจ้าที่ตระเวนไปทุกตรอกซอกซอยและในป่าลึกเพื่ออำนวยพรให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็จะรอต้อนรับอยู่หน้าบ้านด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้า แม้จะมีอาการเจ็บป่วย ทำให้เขารู้สึกได้ถึงพลังแห่งความศรัทธา ในภาพคือเทพเจ้าจ้าวฝู่อ้วงเอี้ยแห่งที่ร่วมขบวนแห่ ได้หยุดอำนวยพรให้แก่อาม่าแห่งเน่ยเต่า
ฤกษ์แห่งขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนเริ่มออกเดิน
ดังนั้น เฉินอี้หงจึงไปถ่ายภาพขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเส้นทางในการเดินแห่ไม่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ทำให้เกี้ยวของเจ้าแม่เคยหยุดพักทั้งในบ้านคน โรงพยาบาล ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือในโรงงาน มาแล้วทั้งนั้น แม้กระทั่งเดินเข้าไปในห้องพักผู้ป่วย และในระหว่างเดินแห่ หากมีเด็ก ๆ ร้องตะโกนว่า “หนูรักเจ้าแม่มาจู่” ขบวนทั้งหมดก็จะหยุดเดินทันที และให้เด็ก ๆ ได้คลานลอดใต้ท้องเกี้ยว เพื่อสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าทุกข์ภัย และนำมาซึ่งความโชคดี โดยในการถ่ายภาพขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน เฉินอี้หงเคยต้องแบกอุปกรณ์ในการถ่ายภาพอันหนักอึ้งวิ่งไปตามสะพานซีหลัว แถมยังเคยไปตั้งกล้องรอสองสามชั่วโมงอยู่ข้างเถียงนาตอนตีห้า เพียงเพื่อต้องการเก็บภาพขณะที่เกี้ยวของเจ้าแม่มาจู่เดินผ่านท้องนาเขียวขจี ท่ามกลางเสียงประทัดสุดอลังการรอให้การต้อนรับ
ในช่วงกว่า 10 ปีที่เขาตามถ่ายภาพขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่เขาเก็บภาพตอนขบวนแห่เริ่มออกเดินแล้ว บังเอิญเดินผ่านบ้านหลังหนึ่งในช่วงเช้ามืด แต่กลับเห็นเจ้าของบ้านแต่งตัวเรียบร้อยกำลังเซ่นไหว้องค์เจ้าแม่มาจู่ในบ้านของตัวเองด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้า ภาพที่ดูแล้วเงียบสงบแต่กลับเปี่ยมไปด้วยพลังเช่นนี้ ทำให้เฉินอี้หงรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก จนเกิดความคิดที่จะบันทึกภาพบ้านของผู้คนก่อนขบวนแห่เริ่มออกเดิน และถ่ายทำผลงานในชุด “ฤกษ์แห่งขบวนแห่เริ่มออกเดิน”
เฉินอี้หงเห็นว่า ทุกครั้งที่พูดถึงการแห่เจ้า โฟกัสที่ทุกคนนึกถึงส่วนใหญ่จะเป็นองค์เจ้าแม่กับเกี้ยวของเจ้าแม่ แต่สำหรับชาวบ้านในไป๋ซาถุนแล้ว อาจมีชาวบ้านเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่เดินทางร่วมไปกับขบวนแห่ แต่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 95 ก็ไม่ได้นอนอยู่บ้านเฉยๆ ทุกคนต่างร่วมกันเซ่นไหว้ในช่วงเวลาเดียวกัน ในจิตใจของพวกเขา ณ ขณะนั้นก็มีแต่เจ้าแม่มาจู่ “เพราะนี่ก็คือศรัทธาแห่งท้องถิ่นของไป๋ซาถุน และเป็นบ่อเกิดอันเป็นที่มาของพิธีแห่เจ้านั่นเอง”
พิธีแห่เอ้อมาหยิวจวง กับการนัดหมายปีละครั้ง
วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ขบวนแห่องค์เจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุนกลับมาถึง คืออีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของชาวบ้านในไป๋ซาถุน นั่นก็คือ “เอ้อมาหยิวจวง (二媽遊庄)” ซึ่งก็คือพิธีแห่เจ้าแม่มาจู่หน้าดำองค์ที่สอง (เฮยเมี่ยนเอ้อมา - 黑面二媽) ของศาลเจ้าก่งเทียนกง เจ้าแม่มาจู่ของศาลเจ้าซานเปียนที่เดินทางร่วมขบวนไปกับเจ้าแม่มาจู่แห่งไป๋ซาถุน และเทพเจ้าองค์อื่น ตระเวนขึ้นเขาลงห้วยเดินไปทุกตรอกซอกซอยของไป๋ซาถุน “เพื่อแบ่งปันความสุขและความโชคดีมีชัยที่เจ้าแม่องค์ใหญ่ได้นำกลับมาด้วย ให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ทั่วไป๋ซาถุนทุกคน ซึ่งนี่ก็คือนัยที่สำคัญที่สุดของการแห่เจ้า” เฉินอี้หงกล่าว
หลังจากได้ร่วมพิธีเอ้อมาหยิวจวงมาหลายปี ทำให้เฉินอี้หงมีเพื่อนที่ไม่รู้จักชื่ออยู่ในหมู่บ้านเน่ยเต่า ซึ่งเขาเรียกเพื่อนคนนี้ว่า อาม่าแห่งเน่ยเต่า โดยในปี ค.ศ. 2015 เฉินอี้หงบังเอิญได้พบกับอาม่าคนนี้ แต่งตัวเรียบร้อยยืนรอต้อนรับเอ้อมาอยู่หน้าบ้านของตัวเองอย่างมีความสุข จึงได้ถ่ายภาพให้กับอาม่าคนนี้ หลังจากนั้น ตลอด 5 ปีต่อมา เมื่อถึงช่วงของพิธีเอ้อมาหยิวจวง เฉินอี้หงก็จะต้องมาถ่ายภาพของอาม่าแห่งเน่ยเต่าทุกครั้ง ในปี ค.ศ. 2020 เฉินอี้หงก็ไปถึงบ้านที่เขาคุ้นเคยอีกครั้ง แต่กลับไม่เห็นเงาของอาม่า จึงเกิดลางสังหรณ์ที่ไม่ดีขึ้นมาในทันที ก่อนจะทราบจากเพื่อนบ้านว่า อาม่าเพิ่งจะเสียชีวิตก่อนพิธีเอ้อมาหยิวจวงเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้เขารู้สึกว่า ชีวิตของคนเราช่างเป็นอนิจจังจริงๆ แต่แม้ว่าอาม่าจะไม่อยู่แล้ว ทุกครั้งที่เขามาที่นี่ก็จะยังไปถ่ายภาพของบ้านหลังนั้น “ปีก่อนผมไป ปีนี้ผมก็ไป ปีหน้าผมก็จะไปอีก..... ขอเพียงผมมาร่วมพิธีเอ้อมาหยิวจวง ผมจะต้องไปที่นั่น ก็เหมือนกับไปอยู่เป็นเพื่อนอาม่านั่นแหละ” เฉินอี้หงบอกว่า นี่คือการนัดหมายปีละครั้งระหว่างเขากับอาม่า
แสงสะท้อนแห่งศรัทธา
เฉินอี้หงที่เป็นคนกระฉับกระเฉงว่องไว มีฉายาในวงการว่า “สายฟ้า” มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาเกิดเป็นตะคริวที่ต้นขาระหว่างการตระเวนถ่ายภาพพิธีเอ้อมาหยิวจวง จนไม่สามารถตามไปถ่ายภาพของขบวนแห่ได้ แต่ต้องนอนอยู่กับที่เพื่อรอให้อาการทุเลาลง ซึ่งภาพของขบวนแห่ที่เห็นอยู่ตรงหน้าค่อยๆ เดินจาก ทำให้เฉินอี้หงอดไม่ได้ที่จะอธิษฐานกับเจ้าแม่มาจู่ ทันใดนั้น เกี้ยวของเทพเจ้านาจาที่กำลังเดินกลับ ก็เลี้ยวไปหยุดอยู่ตรงหน้าของอาม่าคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนรถเข็นในซอยที่อยู่ทางด้านซ้าย เพื่ออวยพรให้กับอาม่าคนนั้น ภาพที่อาม่าพูดกับเทพเจ้านาจาทำให้เฉินอี้หงถึงกับซาบซึ้งจนน้ำตาไหลในระหว่างที่เขากดชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพแห่งความทรงจำนี้เอาไว้
“หากไม่ใช่เป็นเพราะขาเกิดเป็นตะคริว ผมคงไม่มีโอกาสได้เก็บภาพดีๆ แบบนี้เอาไว้” วินาทีนั้นเอง เฉินอี้หงเกิดความเข้าใจขึ้นมาทันทีว่า “ความศรัทธาแบบดั้งเดิมของคนธรรมดาคือ เทพเจ้าไม่ควรจะถูกตั้งไว้บนแท่นบูชาในศาลเจ้าเท่านั้น แต่เทพเจ้าจะเข้าไปอยู่ท่ามกลางชาวบ้าน อยู่กับชาวบ้าน รับรู้ความยากลำบากร่วมกับชาวบ้าน และคอยอยู่เคียงข้างในเวลาที่ชาวบ้านต้องการ ผมเห็นว่านี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้เหล่าผู้มีจิตศรัทธาให้ความเคารพต่อเทพเจ้า และทำให้ความเชื่อของชาวบ้านมีความหนักแน่นจนไม่อาจสั่นคลอนได้” เฉินอี้หงกล่าว
เมื่อถามเฉินอี้หงว่า หลังจากหนังสือภาพชุด “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน” จะมีตอนต่อไปออกมาหรือไม่ เขาบอกว่ามีความคิดที่จะทำหนังสือเกี่ยวกับ “เหมือนจะใกล้ แต่ก็เหมือนอยู่ไกล” ซึ่งจะไม่เหมือนกับ “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน” ที่จะเป็นการรวบรวมผลงานตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้ เฉินอี้หงอยากจะถ่ายภาพของเรื่องราวบนเกาะอื่นๆ ที่อยู่นอกไต้หวัน ทั้งเผิงหู จินเหมิน หมาจู่ และเสี่ยวหลิวฉิว เพราะความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในพื้นที่เหล่านี้ มีพลังชีวิตที่เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างมาก และทำให้เขารู้สึกทึ่งเป็นอย่างมาก สำหรับเฉินอี้หงแล้ว การออกหนังสือภาพชุด “การแสวงบุญแห่งไต้หวัน” มิใช่จุดจบของเส้นทางการตระเวนถ่ายภาพพิธีเซ่นไหว้ หากแต่มันคือการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง